Skip to:
การต้มไข่นั้นไม่ยาก แต่การต้มไข่ให้น่ารับประทานนั้นต้องมีเทคนิคและเคล็ดลับ
ไข่ นำไปทำอาหารอะไรก็อร่อย สามารถปรุงได้หลากหลายเมนูทั้งอาหารไทย จีน ญี่ปุ่น ตะวันตก อาหารจานไข่รับประทานได้ทุกเพศทุกวัยเนื่องจากไข่เป็นเครื่องปรุงที่ซื้อง่าย ราคาไม่แพง อีกทั้งเป็นอาหารที่มีสารอาหารครบถ้วน เมนูที่ง่ายและนิยมกันมากสำหรับทุกคนคงหนีไม่พ้นไข่ต้ม แต่ต้มไข่อย่างไรให้อร่อยได้ดั่งใจ ได้ยางมะตูมสีส้มสวยกำลังดี ได้ความสุกกำลังดีตามที่ต้องการต้องมีเคล็ดลับกันหน่อย
ก่อนอื่นมาทำความรู้จักไข่กัน ไข่เป็นอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการ เป็นโปรตีนชั้นดีราคาถูกเมื่อเทียบกับเนื้อสัตว์ ไข่หนึ่งฟองให้พลังงาน 70 แคลอรี โปรตีน 6 กรัม ไขมัน 5 กรัม รวมทั้งแร่ธาตุ และวิตามินต่างๆ ส่วนสำคัญคือ โปรตีนในไข่ทั้งหมดเป็นโปรตีนคุณภาพสูง เพราะมีกรดอะมิโนที่จำเป็นต่อร่างกายครบทั้ง 9 ตัว ไข่มีไขมันชนิดไม่อิ่มตัวที่มีประโยชน์มากถึง 26 เปอร์เซ็นต์ ประกอบด้วยกรดไขมันโอเมก้า-3 และ DHA ซึ่งจำเป็นสำหรับการทำงานของสมอง และกรดไขมันโอเมก้า-6 ที่จำเป็นสำหรับเส้นผม และผิวพรรณ นอกจากนี้ไข่อุดมไปด้วยวิตามินและแร่ธาตุที่มีประโยชน์สำหรับร่างกาย วิตามินที่สำคัญในไข่แดงได้แก่ วิตามินบี 12 ไรโบฟลาวิน โฟเลต เอ บี 6 ดี และอี มีแร่ธาตุสำคัญในไข่ขาว คือ ฟอสฟอรัส ซีลีเนียม เหล็ก สังกะสี และโคลีน
ไข่ที่นิยมบริโภคในบ้านเราก็มีด้วยกันหลายชนิด เช่น ไข่ไก่ นิยมใช้ในการทำอาหารมากที่สุด ทำกับข้าวก็อร่อย ทำขนมก็ดี เพราะมีกลิ่นคาวน้อย หาซื้อง่าย ราคาไม่แพง ไข่เป็ด นิยมใช้ทำขนมไทย เพราะไข่เป็ดมีไข่แดงฟองใหญ่ ข้นเหนียว รสมัน และสีแดงสวย สำรับกับข้าวไทยบางชนิดยังใช้ไข่เป็ด เช่น ไข่พะโล้ ไข่ต้มยางมะตูม นอกจากนี้ยังนำไปถนอมอาหารเป็นไข่เค็มและไข่เยี่ยวม้า ไข่นกกระทา มีขนาดเล็ก รสชาติจืด เปลือกบางเป็นลาย ราคาไม่แพง มีโคเลสเตอรอลสูง
มาตรฐานน้ำหนักไข่ไก่ แบ่งได้ดังนี้
เบอร์ 0 น้ำหนัก 70 กรัมต่อฟองขึ้นไป
เบอร์ 1 น้ำหนัก 65 - 70 กรัมต่อฟอง
เบอร์ 2 น้ำหนัก 60 - 65 กรัมต่อฟอง
เบอร์ 3 น้ำหนัก 55 - 60 กรัมต่อฟอง
เบอร์ 4 น้ำหนัก 50 - 55 กรัมต่อฟอง
เบอร์ 5 น้ำหนัก 45 - 50 กรัมต่อฟอง
เมื่อทราบแล้วว่าไข่มีกี่ประเภท อะไรบ้าง คุณประโยชน์เป็นอย่างไร ลองทำเคล็ดลับต้มไข่เพื่อให้ไข่ต้มง่ายๆจะเปลี่ยนไปไม่ธรรมดาเหมือนเดิม รับรองว่าถูกใจทั้งคนต้ม คนทาน เพราะไข่สุกกำลังดีและน่าทาน
1. เลือกซื้อไข่ให้สดใหม่ ไข่ไก่สดใหม่จับบริเวณเปลือกไข่จะสากมือ เพราะมีนวลแป้งเคลือบเปลือกไข่เหลืออยู่ซึ่งช่วยป้องกันไม่ให้น้ำ อากาศ สิ่งสกปรกเข้าไป ลูกจะหนัก วางลงในน้ำไข่จะนอนไม่ตั้ง ไข่เป็ดที่ใหม่จับฟองไข่ส่องกับแสง ไข่จะตันไม่มีโพรงอากาศที่ปลายของฟองไข่ เปลือกต้องสะอาด ลูกจะหนัก เมื่อวางลงในน้ำไข่จะนอนเช่นกัน หากซื้อในซุปเปอร์มาเก็ตหรือร้านสะดวกซื้อไข่ไก่จะระบุวันผลิต MFG ซึ่งหมายถึงวันบรรจุกล่อง ซื้อที่สดหรืออายุน้อยที่สุด
2. เก็บรักษาไข่ให้ดี เมื่อซื้อไข่มาแล้วแต่ทานไม่หมดควรเก็บรักษาอย่างถูกต้องเพื่อคงความสดใหม่เอาไว้ ควรเก็บรักษาไว้ในตู้เย็นอุณหภูมิ 4 องศาเซลเซียสหรือต่ำกว่า นอกจากนั้นควรเก็บทั้งกล่อง เอาด้านแหลมลงหรือห่อด้วยกระดาษก่อนแช่ เพราะช่วยลดการระเหยและลดการเพิ่มฟองอากาศภายในไข่
3. ต้มไข่ไม่ให้เปลือกร้าวและแกะเปลือกง่าย ใส่น้ำเย็นให้ท่วมไข่ ตามด้วยน้ำมะนาวหรือเกลือป่นลงไปเล็กน้อย น้ำมะนาวและเกลือช่วยไม่ให้เปลือกร้าวและไข่ไหลทะลักออกมา ตั้งไฟกลาง เริ่มจับเวลาเมื่อน้ำเดือด ถ้าอยากให้ไข่แดงอยู่ตรงกลางต้องคนไข่บ่อยๆ ไข่ต้มจะสุกภายในเวลา 10 นาที (เพื่อให้แน่ใจว่าไข่แดงแข็ง) หลังจากนั้นตักออกแช่น้ำเย็นจัดทันที ไข่จะนุ่มนวลไม่แข็งกระด้าง เปลือกไข่ไม่ติดแน่น แกะง่าย ไข่แดงไม่มีรอยสีดำๆเป็นวงแหวนอยู่รอบนอก
4. ไข่ลวกสุกพอดี เตรียมไข่ในหม้อใบเล็กๆใบหนึ่ง ต้มน้ำในหม้ออีกใบให้เดือด เทน้ำเดือดใส่ในหม้อไข่ให้ท่วม ปิดฝาทิ้งไว้นานประมาณ 5 นาที เทน้ำออก จะได้ไข่ลวกสุกกำลังดี
5. ต้มไข่แดงให้เป็นยางมะตูม ใส่ไข่ในน้ำเย็น นำไปตั้งไฟต้มด้วยไฟกลางให้เดือด เริ่มจับเวลาเมื่อน้ำเดือด ไข่ไก่ใช้เวลาประมาณ 4-5 นาที ไข่เป็ดใช้เวลาประมาณ 5-6 นาที หลังจากนั้นรีบตักขึ้นแช่น้ำเย็นทันที
อย่างที่ทราบแล้วว่าไข่มีหลายขนาด การต้มไข่ให้ได้ดั่งใจนอกจากเคล็ดลับข้างต้นแล้วต้องคำนึงถึงขนาดของไข่ด้วย ยิ่งขนาดใหญ่ เวลาที่ใช้ต้มต้องนานขึ้นตามไปด้วย นอกจากนั้นเวลาข้างต้นคิดจากไข่ในอุณหภูมิห้อง ถ้านำไข่ออกจากตู้เย็นใหม่ๆควรทิ้งไว้ข้างนอกให้ได้อุณหภูมิปกติก่อนนำไปต้ม ลองนำเทคนิคเคล็ดลับไปต้มไข่ทานที่บ้านนะครับ หวังว่าไข่ต้มเดิมๆจะไม่เหมือนเดิมอีกต่อไปครับ